คุณเคยเจอปัญหาแบบนี้หรือไม่?

💢 ซื้อเบาะใหม่มา รูปทรงถูกใจ สีโดนใจ เข้ากันกับเฟรม….
“แต่ดันนั่งแล้วปวดก้น อึดอัด ไม่สบาย”

💢 ยังมีแรงปั่นอยู่ แต่เจ็บก้น ไม่อยากปั่นต่อแล้ว 

💢 ปั่นจักรยานมาตั้งนาน ยังหาเบาะที่เข้ากับตัวเองไม่ได้ซักที

เพราะ “เบาะ” เป็นหนึ่งในสามจุดสัมผัส (Contact Point) ระหว่างผู้ขี่และจักรยาน เป็นอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสผู้ขี่มากที่สุด
ดังนั้นการเลือกใช้เบาะที่เหมาะสมย่อมมีความสำคัญมากกกกก (ก.ไก่ล้านตัว)
 
 
แต่ก่อนที่ตัดสินใจเลือกซื้อเบาะมาใช้ซักใบ เรามาทำความเข้าใจกับสองปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงนั่นคือ
“ประเภทของเบาะจักรยาน” และ “ประเภทการใช้งาน”
 

 

ประเภทของเบาะจักรยาน

เบาะแข่งขัน – เบาะแบบเน้นประสิทธิภาพ

ด้วยธรรมชาติของการแข่งขันที่ผู้ขี่จะต้องมีการลุกยืน Sprint สลับกับการนั่ง การเสียดสีกับเบาะจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
 
ท่ายืนปั่นเพื่อประสิทธิภาพ (เหล่า Pro Rider ผ่านการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี)
 
เบาะแข่งขันส่วนใหญ่จึงถูกออกแบบมาให้แคบ และมีวัสดุ padding ที่บาง เพื่อให้ผู้ปั่นสามารถขยับตัวบนเบาะได้โดยไม่เกิดการเสียดสีมากเกินไป พอผู้ขี่รู้สึกสบาย ไม่อึดอัด ก็สามารถออกแรงได้อย่างมั่นใจ ตามมาด้วยประสิทธิภาพที่ดี
 
เบาะแบบแข่งขันจาก Selle Italia วัสดุ padding น้อย เน้นน้ำหนักเบา
 
 
ส่วนความกว้างของเบาะมักจะไม่กว้างมาก เนื่องด้วยท่าปั่นแบบ Aggressive (ก้มต่ำให้ลู่ลม) จะทำให้จุดสัมผัสระหว่างผู้ปั่นและเบาะ (Sit Bones) แคบลง (ซึ่งจะอธิบายในบทความในอนาคต)
 
Adam Hansen กับท่าก้มปั่น เพื่อความลู่ลม
 
 

เบาะ Comfort – เบาะแบบเน้นความสบาย

เบาะประเภทนี้ออกแบบมาเพื่อความสบายในการปั่น ด้วยทรงเบาะที่กว้าง รองรับท่านั่งแบบหลังตั้งขึ้น และวัสดุ padding ที่หนานุ่ม ช่วยซับแรงกระแทก ทำให้ผู้ขี่นั่งบนจักรยานได้นานขึ้น จึงเป็นที่นิยมในจักรยานประเภท Touring, city bike, urban หรือสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังด้วยจักรยานในช่วงแรกที่ต้องการการรองรับหรือความนุ่มเพื่อช่วยให้ปั่นสบาย 
 
เบาะ Fabric ที่มี padding หนา นุ่ม 
 

 

ประเภทการใช้งาน

ปั่นทางเรียบ (แบบเรียบจริงๆ)

เบาะสำหรับการปั่นทางเรียบมักจะมี Padding ที่น้อยกว่าเบาะประเภทอื่น เนื่องจากเส้นทางการปั่นทางเรียบส่วนใหญ่ (ถนน, สนามแข่งเฉพาะ) มักจะไม่พบเจอแรงกระเทือนมากนัก หรือปัจจัยด้านประสิทธิภาพ เช่น การแข่งขันที่เฉือนกันด้วยเวลาเสี้ยววินาที น้ำหนักรวมของอุปกรณ์ที่ต้องไม่มากเกินไป จึงใส่ Padding ไว้น้อย ถึง น้อยมาก 
 

 

ปั่นใช้งานชีวิตประจำวัน หรือ บนถนนทั่วไป

 

โดยเฉพาะถนนเมืองไทย ที่มักมีเส้นทางที่ขรุขระ แรงสั่นสะเทือนมาเต็มๆ เบาะที่นิยมใช้จึงเป็นเบาะประเภทที่วัสดุ Padding มีความหนาปานกลาง ถึง หนามาก เน้นความสบายเป็นหลัก
เบาะ Raleigh ที่มี padding ในระดับปานกลาง

 

ปั่นทางไกล 

เบาะสำหรับปั่นทางไกลส่วนมาก จะเน้นความสบายเป็นหลัก เส้นทางในการปั่นมักคาดเดาได้ยาก (ส่วนใหญ่เป็นทางเรียบที่ไม่ค่อยเรียบ) ย่อมพบเจอแรงสั่นสะเทือนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วัสดุ Padding เลยต้องมีความหนาพอสมควร เพื่อซับแรงกระแทก ลดความเมื่อยล้าในการขี่ระยะไกล
 
เบาะ cruiser จาก Brooks มีสปริงเพื่อซับแรงกระแทก เหมาะสำหรับการขี่ระยะไกล หรือ เน้นความสบาย
 

 
ทั้งนี้การเลือกใช้เบาะ ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่มีผิดหรือถูก


“บางทีเราอาจจะชอบเบาะแข็งๆ มากกว่าเบาะนุ่มๆ ก็เป็นได้”

 
ส่วนปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกเบาะนั้น เราจะมาคุยกันในบทความตอนต่อไป
 
#letsbikebygoro